วัดไร่ขิง ถวายรางวัล “พุทธปัญญาคุณูปการ” แด่ “พระพรหมวชิรปัญญาจารย์” 


8 ต.ค. 2566, 14:48

วัดไร่ขิง ถวายรางวัล “พุทธปัญญาคุณูปการ” แด่ “พระพรหมวชิรปัญญาจารย์” 




 

 ๘  ตุลาคม ๒๕๖๖  ณ วัดไร่ขิง พระอารามหลวง จ.นครปฐม มีการกำหนดการจัดพิธีถวายรางวัล “พุทธปัญญาคุณูปการ” ในวาระครบ ๑๐๑ ปี ชาตกาล พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปัญญา อินฺทปญฺญมหาเถร ) อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงและที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔ โดยภายในงาน พระเทพปวรเมธี รองเจ้าคณะภาค ๑๔  รองประธานศูนย์พระปริยัติเทศแห่งคณะสงฆ์ รองอธิการบดี มจร เป็นผู้อ่านประกาศสดุดีเกียรติคุณ และ พระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าคณะภาค ๑๔  เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เป็นผู้ถวายโล่พุทธปัญญาคุณูปการ แด่ พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ราชบัณฑิต

สำหรับ  พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เป็นพระมหาเถระผู้เปี่ยมด้วยภูมิรู้และภูมิธรรม มีศีลาจารวัตรเป็นที่น่าเคารพศรัทธาแห่งพุทธศาสนิกชน เป็นยอดนักการศึกษา เชี่ยวชาญแตกฉานในพระพุทธศาสนา มีคุณูปการและได้บำเพ็ญคุณประโยชน์อย่างไพศาลแก่สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา มีประสบการณ์และผลงานมากมาย สรุปได้ดังนี้

พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๘ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และราชบัณฑิต สาขาตันติภาษา

พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ นามเดิม ทองดี นามสกุล สุรเดช เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ ที่อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๔ ปี มีพระครูวิมลวชิรากร เป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดไตรภูมิ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร มีพระวชิรสารโสภณ วัดหงษ์ทอง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “สุรเตโช” ต่อมาได้ย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ สำนักเรียนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ขณะมีอายุ ๒๖ ปี นอกจากนี้ ยังสอบได้ประโยควิชาครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ในปีถัดมา



ด้านการปกครอง พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้สนองงานคณะสงฆ์ในตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ คือ เป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เลขานุการเจ้าคณะเขตบางขุนเทียน เป็นเจ้าคณะแขวงบางค้อ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นเจ้าคณะภาค ๑๖ และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๕ – ๒๕๔๔ ตามลำดับ

ด้านการศึกษา พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค พ.ศ. ๒๕๑๕ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจประโยคบาลีสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจร่างและเฉลยข้อสอบบาลีสนามหลวง เป็นหัวหน้าวิทยากรอบรมบาลีก่อนสอบ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ณ วัดไร่ขิง พระอารามหลวง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๓ ณ วัดพิกุลทอง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นอาจารย์สอนบาลีประโยค ป.ธ.๘ และ ป.ธ.๙ โรงเรียนพระปริยัติธรรมส่วนกลางของคณะสงฆ์ ณ วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดราชโอรสาราม เคยเป็นรองประธานกรรมการตรวจสอบต้นฉบับพระไตรปิฎกฉบับสังคายนา ภาษาไทยและภาษาบาลี เป็นรองประธานกรรมการตรวจสำนวนการแปลพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ เป็นกรรมการจัดทำแผนพัฒนาด้านการศึกษา กรมการศาสนา เป็นประธานกรรมการจัดทำต้นฉบับพระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทย ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์จึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ในประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาตันติภาษา เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙


ด้านการเผยแผ่ พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ เป็นพระมหาเถระผู้มีความเชี่ยวชาญและแตกฉานในการแสดงพระธรรมเทศนา ได้รับอาราธนาให้ไปถวายพระธรรมเทศนาในพระบรมมหาราชวัง และแสดงพระธรรมเทศนาในพิธีสำคัญต่างๆ ทั่วไป พระเดชพระคุณฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพระธรรมทูต สายที่ ๘ เป็นผู้อำนวยการฝึกอบรมพระนักเทศน์ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง หนตะวันออกและหนใต้ เป็นวิทยากรถวายความรู้ในการอบรมพระนักเทศน์ทุนเล่าเรียนหลวง และหลักสูตรวิชาการเทศนา ณ สำนักวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร จนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคือ ได้เขียนหนังสือและแต่งตำราเพื่อเผยแผ่พุทธธรรม มีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง นอกจากนี้ ยังได้อนุญาตให้นำศัพท์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและคำที่ใช้กับวัดและพระในหนังสือ “คำวัด” เผยแพร่ในอภิธานศัพท์พุทธศาสนาในวิกิพีเดีย

ด้านสาธารณูปการ พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ในฐานะเจ้าอาวาสได้บริหารจัดการและพัฒนาวัดราชโอรสารามให้วิจิตรงดงามเป็นรมณียสถานที่โดดเด่น บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระภิกษุสามเณรที่พักอาศัยและเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนที่มาจัดพิธีบำเพ็ญกุศล นอกจากนี้ ยังเป็นประธานอำนวยการ/อุปถัมภ์การก่อสร้างวัดไทยในต่างประเทศ ประกอบด้วย วัดพุทธวิหาร กรุงเบอร์ลิน วัดธรรมวิหาร ฮันโนเวอร์ วัดสังฆวิหาร สตุ๊ตการ์ด วัดพุทธอังคีรสาราม บาลิงเง่น วัดไทยไลป์ซิก เมืองไลป์ซิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และวัดธรรมกิตติวงศ์ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก

ด้านศึกษาสงเคราะห์และสาธารณสงเคราะห์ พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ได้จัดตั้งกองทุนและแจกทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร นักเรียนโรงเรียนวัดราชโอรส และโรงเรียนต่าง ๆ ตลอดจนให้ทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้บริจาคทุนทรัพย์เพื่อการสาธารณประโยชน์ เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น


ด้านสมณศักดิ์ พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ได้รับพระราชทานตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับดังนี้ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีสุทธิวงศ์ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวิสุทธิโมลี ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพปริยัติโมลี ศรีปาพจนานุสิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมกิตติวงศ์ ปริยัติวิธานธำรง กวีวงศดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนามที่ พระมหาโพธิวงศาจารย์ ปริยัติกิจวิธานปรีชา ศีลาจารวิมล โสภณธรรมานุสิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี และวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕ ได้รับพระราชทานราชทินนามใหม่ พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนามที่ พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ปริยัติกิจวิธานปรีชา ศีลาจารวิมล โสภณธรรมานุสิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์วัดไร่ขิง พระอารามหลวง จังหวัดนครปฐม และคณะสงฆ์ภาค ๑๔ พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ได้สนองงานคณะสงฆ์ภาค ๑๔ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปัญญา อินฺทปญฺญมหาเถร) ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะภาค ๑๔ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าวิทยากรอบรมบาลีก่อนสอบ ภาค ๑๔ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นมา ขณะที่ยังเป็นพระมหาทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ บทบาทและปฏิปทาในฐานะครูสอนบาลีมีส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้พระภิกษุสามเณรสนใจศึกษาภาษาบาลีเพิ่มมากขึ้น และการจัดอบรมบาลีก่อนสอบของคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ถือว่าเป็นต้นแบบของการอบรมบาลีก่อนสอบของคณะสงฆ์ภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ

นับได้ว่า พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนาเป็นอเนกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่คณะสงฆ์วัดไร่ขิง พระอารามหลวง จังหวัดนครปฐม ภาค ๑๔ ควรแก่การยกย่องเชิดชูสดุดีเกียรติคุณ จึงถวายรางวัล “พุทธปัญญาคุณูปการ” เพื่อประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏไพศาล เป็นทิฏฐานุคติแก่อนุชนสืบไป


คำที่เกี่ยวข้อง : #วัดไร่ขิง  









©2018 CK News. All rights reserved.