"รมว.ดีอี"สั่งเดินหน้า ‘WebD” คิกออฟแพลตฟอร์ม AI สกัดเว็บเถื่อน


5 ก.ค. 2568, 12:19

"รมว.ดีอี"สั่งเดินหน้า ‘WebD” คิกออฟแพลตฟอร์ม AI สกัดเว็บเถื่อน




วันที่ 5 ก.ค.2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผลเป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงดีอี (Top Executives) ครั้งที่ 6/2568 โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี , ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี , ดร.ปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดีอี พร้อมคณะผู้บริหารและหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี เข้าร่วมเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมาว่า กรณีที่่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงดีอี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นเจ้าภาพการจัดงาน ‘The 3rd Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ร่วมกับยูเนสโก ได้รับการตอบรับที่ดี พร้อมทั้งคำชื่นชมจากยูเนสโก ผู้นำประเทศ และเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
.
ทั้งนี้กระทรวงดีอี พร้อมเดินหน้าการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการการกำกับดูแลด้วยจริยธรรม AI โดยขณะนี้ได้ดำเนินการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการระงับการแพร่หลายและตรวจสอบการเข้าถึงเว็บไซต์ผิดกฎหมาย หรือที่เรียกว่า ‘WebD Project’ ในรูปแบบแพลตฟอร์ม
.
สำหรับแพลตฟอร์ม ‘WebD’ เป็นแพลตฟอร์มเร่งรัดกระบวนการระงับเว็บไซต์ผิดกฎหมายซึ่งมีมากกว่า 100,000 URLs ต่อปี โดยใช้เทคโนโลยี AI และ RPA ในการค้นหา เก็บหลักฐาน สร้างคำร้องต่อศาลแบบ Paperless และส่งคำสั่งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) โดยอัตโนมัติ พร้อมมีระบบ ‘URLs Checker’ เพื่อตรวจสอบการปิดกั้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเด่นคือสามารถทำงานได้เร็วกว่าเจ้าหน้าที่ถึง 31.5 เท่า ช่วยลดขั้นตอนการยื่นคำร้องต่อศาลลงได้ 5 วันทำการ และคาดว่าจะเพิ่มจำนวน URLs ที่ถูกสั่งปิดในปี 2568 ได้ถึงร้อยละ 70.7 จากเดิมในปี 2567 (โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 175 URLs)
.
นอกจากนี้ ‘WebD’ ยังมีระบบค้นหาและจัดเก็บหลักฐานเว็บไซต์ผิดกฎหมาย (AI Crawler) ซึ่งใช้ในการตรวจสอบ URLs ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย (เทียบเท่าการทำงานโดยเจ้าหน้าที่จำนวน 94 คน) ก่อนส่งต่อไปยังระบบแอปพลิเคชัน สำหรับตรวจสอบ/กลั่นกรองเว็บไซต์ผิดกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการยื่นคำร้องต่อศาล (สร้างคำร้องส่งต่อไปยังศาลอาญาผ่านระบบออนไลน์) กระบวนการสั่งปิด (ระบบส่งคำสั่งศาลไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และกระบวนการปรับพินัย โดยเป็นการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี AI ร่วมกับการทำงานของเจ้าหน้าที่
.
“การใช้งานแพลตฟอร์ม WebD จะช่วยให้กระบวนการทำงานในการระงับ ปิดกั้นเว็บไซต์ URLs ผิดกฎหมายสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเว็บไซต์ผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงดีอีให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามอาญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อประชาชน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว 
.
นายประเสริฐ เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาประเด็นที่สำคัญ คือ 1.การเร่งรัดดำเนินการใช้งาน แพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง ‘DE-fence platform’ อย่างเต็มระบบ ซึ่งขณะนี้เปิดให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใช้งานในระบบ BETA และเตรียมพร้อมให้ประชาชนใช้งานเต็มระบบในเร็วๆนี้
สำหรับ “DE-fence platform”เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชน ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น (SMS) ของคนร้าย รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์โทรจากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือ สถาบันการเงิน เป็นต้น
.
2.การติดตามตรวจสอบเรื่องข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับความมั่นคงระหว่างประเทศ ไทย-กัมพูชา กระทรวงดีอี โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างใกล้ชิด โดยได้ตรวจสอบข่าวสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา และยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม/บิดเบือน 42 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการส่งปิดกั้นรวม 29 URLs เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน  และ 3.การแจ้งเตือนเรื่องภัยพิบัติ และภัยทางธรรมชาติ ขณะนี้กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเข้ากับแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบด้วยการให้บริการ 3 ประเภท ได้แก่ พยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วัน เส้นทางเดินพายุ และข้อมูลแผ่นดินไหว





คำที่เกี่ยวข้อง : #รมว.ดีอี  









©2018 CK News. All rights reserved.