เศรษฐกิจฮวบ สมคิด ยอมรับเดือนหน้าบริษัทเตรียมปิดอีกเพียบ


24 มิ.ย. 2563, 16:19

เศรษฐกิจฮวบ สมคิด ยอมรับเดือนหน้าบริษัทเตรียมปิดอีกเพียบ




วันที่ 24 มิ.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานแถลงนโยบาย “เศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย” และโครงการ “New Gen Hug บ้านเกิด” ซึ่งจัดโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า โจทย์ของรัฐบาลหลังจากออกมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 1 ไตรมาส จนทำให้ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยความสมดุล โดยต้องดูตามความเป็นจริงว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดต้องทำอย่างมีเหตุและมีผล เป็นไปอย่างระมัดระวัง ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่

 

 

ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ในเดือน ก.ค. 2563 หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว จะเริ่มมีธุรกิจที่ทยอยปิดตัวลงมากขึ้น เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่เกิด การส่งออกยังไม่เกิด โรงงานยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เต็มที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา ดังนั้นในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ รัฐบาลจึงวางแผนให้ส่วนราชการเร่งเสนอโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าวพิจารณาโครงการที่มีความเหมาะสม โดยภายในเดือนมิ.ย. 2563 คาดว่าจะเสนอโครงการต่างๆ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ตามแผน

 

 

“ในช่วงที่ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเลย ก็มีคำถามว่าคนจะเอาอะไรกิน จึงเกิดความคิดว่าจะให้ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน รัฐเอกชน มูลนิธิ ทำโครงการขึ้นมา โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาความเหมาะสม โดยไม่ให้การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง เร่งรัดเวลาว่าในเดือนมิ.ย.นี้ จะต้องเริ่มต้นแล้ว เพราะเดือนก.ค. คาดการณ์ว่าจะเริ่มมีธุรกิจที่ทยอยปิดตัว เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี เพราะที่ผ่านมามีการคุยกันว่าหลังจากนี้จะไม่ใช่แค่เยียวยา แต่ต้องใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับการเยียวยาด้วย ฉะนั้นโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยจึงเกิดขึ้นเป็นโครงการที่สร้างให้ไทยเข้มแข็งด้วยการเติบโตจากภายใน เปลี่ยนพื้นดินให้เป็นผลผลิต เพราะการส่งออกเป็นเพียงผลพลอยได้ในบั้นปลายเท่านั้น ตรงนี้เป็นโอกาสสำคัญของคนไทย เราไม่เคยมีโอกาสอย่างนี้ เพราะงบไม่เคยมีมากเท่านี้”นายสมคิด กล่าว

 

 

นายสมคิด กล่าวอีกว่า หน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่แค่การเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังต้องคิดล่วงหน้าด้วยว่า หลังจากควบคุมสถานการณ์ได้แล้วจะทำอะไรต่อ จึงเป็นที่มาของมาตรการเยียวยาโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งยอมรับว่าทำไปด้วยความยากลำบาก เพราะไทยไม่พร้อมเรื่องข้อมูล ทำให้ในช่วงแรกมีเสียงโจมตี วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งก็ได้หารือกับนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และบอกว่าต้องอดทน เพราะทุกครั้งที่มีวิกฤต คลังคือหลักที่จะยึดเหนี่ยว ดังนั้นถ้าคลังอ่อนแอ ประเทศจะไม่มีเหลือเลย เราได้ประสบการณ์นี้จากสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง ดังนั้นต้องรับฟังคำวิจารณ์และทำทุกอย่างให้ดีขึ้น นั่นเป็นหน้าที่ของรมว.คลัง ที่จะต้องรับสิ่งเหล่านั้นและกลืนลงในกระเพาะเปลี่ยนเป็นแก๊สในกระเพาะ ตรงนี้เป็นเรื่องปกติ

 

 

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยนั้น เป็นหนึ่งในแนวทางที่เตรียมไว้เพื่อรองรับคนตกงานที่เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา เพื่อให้มีงานทำ ให้มีรายได้แม้จะไม่เท่าเดิม แต่ก็ยังมีรายได้เพียงพอจุนเจือครอบครัว สร้างอนาคตให้กับคนไทยให้มีทางเลือกในการสร้างชีวิต แทนที่จะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานมาเป็นแรงงาน มาเป็นคนจนในเมือง ซึ่งเป็นผลเสียจากการพัฒนาในอดีตที่เน้นการผลิตและการสร้างฐานการผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่นโยบายดังกล่าวต้องการทำให้คนยืนอยู่ได้ ทำให้มีหัวขบวนรวมกลุ่มและให้ทุกฝ่ายไปช่วยเหลือคนที่อ่อนแอ โดยให้ ธ.ก.ส. มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 0.01% ถ้าเกินกว่านี้จะเล่นงาน

 

 

“ผมไม่ได้ต้องการสร้างเกษตรกรรมที่ผลิตแล้วไปไม่รอด จำนำข้าวรายปี โบร่ำโบราณไม่เอา ต้องการทำให้เขาเป็นผู้ประกอบการให้ได้ เสร็จแล้วก้าวสู่ภายนอก โอกาสนี้มาถึงแล้ว และใช้โอกาสนี้ประกาศตัวเป็นศูนย์กลางอาหารโลก ไม่ต้องรอชาติหน้า ต้องมาช่วยกันคิด หาทางออกของประเทศ ใช้โอกาสปีนี้และปีหน้าสร้างฐานให้เข้มแข็ง โบราณบอกว่าจะเป็นมังกรเหินฟ้า ต้องตะไบเล็บให้คม หัดพ่นไฟไว้ พอฟ้าเปิดมังกรจะทะยาน”นายสมคิด กล่าว

 

 



นายอุตตม กล่าวว่า ช่วงที่ผมเข้ามาเป็น รมว.คลัง ก็ไม่นึกว่าจะต้องเจอสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ จนกลายมาเป็น รมว.คลังในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการกู้เงินมากที่สุด เพราะเรื่องสำคัญในขณะนั้นคือ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าประชาชนให้เร็วที่สุด เพราะเศรษฐกิจถูกกระทบรุนแรง เฉียบพลัน โดยเงินกู้ส่วนหนึ่งก็มาให้ ธ.ก.ส. จำนวน 5.55 หมื่นล้านบาท เพื่อเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจไทยสร้างชาติ ยอมรับว่ารัฐบาลอยากช่วยมากกว่านี้ แต่ในเวลาที่มีจำกัด ทรัพยากรที่มีจำกัด รัฐบาลพยายามเต็มที่ในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหากช้าเกินไป จะพลาดจังหวะ พลาดโอกาส และจะกลายเป็นปัญหาที่ลึกและฟื้นตัวยาก

 

 

สำหรับยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การฟื้นฟูภาคเกษตรระดับชุมชน ยกระดับภาคเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม เศรษฐกิจชุมชน และการให้ความสำคัญกับ การค้นหา สร้างคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการปรับเปลี่ยนปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ

 

 

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีการตลาด รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้สถานประกอบการหยุดกิจการ คนตกงาน นักศึกษาจบใหม่ในปีนี้อีกกว่า 5.2 แสนคน และต้องย้ายกลับภูมิลำเนา ธ.ก.ส. จึงจัดทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบท ภายใต้เม็ดเงินดำเนินการกว่า 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบสนับสนุนโดยตรง 5 หมื่นล้านบาท และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน อีกกว่า 2.6 แสนล้านบาท เพื่อเร่งฟื้นฟูอาชีพและรายได้หลังโควิด-19


ทั้งนี้ โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย ประกอบด้วย

 

1. โครงการเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน (ตั้งหลัก) โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณโดยตรง จำนน 1.07 หมื่นล้านบาท ผ่านการขับเคลื่อนและพัฒนาให้เกษตรกร จำนวน 3 แสนราย สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยมีแหล่งอาหารเพื่อเลี้ยงชีพภายในพื้นที่รอบตัว สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีความรู้ มีความเชื่อมั่นในวิถีเกษตรแบบใหม่ จำนวน 2 แสนราย โดย ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท คาดว่ามีเกษตรกรใช้สินเชื่อประมาณ 2 แสนราย, สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีเกษตรกรใช้สินเชื่อ 5 แสนราย และสินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ วงเงิน 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีเกษตรกรใช้สินเชื่อนี้ ประมาณ 2 ล้านราย

 

 

2. โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน (ตั้งฐาน) โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 1.6 หมื่นแห่ง สำหรับนำไปลงทุนพื้นฐานด้านการเกษตร ในอัตราไม่เกิน 50% ของมูลค่าการเรียนรู้ และไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิตสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารและดำเนินการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจสร้างไทย วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตร วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท

 

 

3. โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐฏิจฐานราก (ตั้งมั่น) โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สถาสบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ 7.2 พันแห่ง เป็นหัวขบวนในการรวบรวมผลผลิต แปรรูปผลผลิต เชื่อมโยงตลาด เป็นต้น โดยเน้นการมีส่วนร่วมและให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ได้แก่ ค่าลงทุนปัจจัยพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนการผลิต การเช่า การจ้างแรงงาน ไม่เกิน 50% ของค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายและไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรน ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตร วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท


คำที่เกี่ยวข้อง : #สมคิด   #เศรษฐกิจ  









©2018 CK News. All rights reserved.