รมว.ศึกษาธิการ ย่องเงียบ! พบ “บิ๊กตู่” ปัดคุยเรื่องภรรยาลงแข่ง “บิ๊กแป๊ะ” คว้าตำแหน่งผู้ว่า กทม.


22 ม.ค. 2564, 14:25

รมว.ศึกษาธิการ ย่องเงียบ! พบ “บิ๊กตู่” ปัดคุยเรื่องภรรยาลงแข่ง “บิ๊กแป๊ะ” คว้าตำแหน่งผู้ว่า กทม.




(22 ม.ค. 64 ) นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ  รมว.ศึกษาธิการ และ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยขึ้นด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า 

ทั้งนี้ ณัฎฐพล ได้ชี้แจงถึงกรณีที่ นางทยา ทีปสุรรณ อดีตรองผู้ว่า กทม. ภริยา เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ว่า นายกฯ ไม่ได้เรียกมาพูดคุยเรื่องนี้ ทั้งนี้การลงสมัครผู้ว่ากทม.ของภรรยาเป็นการเสนอตัวให้ประชาชนคนกรุงเทพฯเลือกแค่นั้น ไม่ได้มีอะไร เพียงแสดงเจตจำนงสนใจที่จะเป็นตัวเลือก 

สำหรับผม มีความเป็นพรรคอยู่ก็ต้องระมัดระวังในการที่จะขับเคลื่อน เพราะมีเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องระมัดระวังพอสมควร
เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ในพรรค พปชร. แล้วหรือไม่ นายณัฎฐพล กล่าวว่า ในเมื่อคนในครอบครัวเสนอตัว ผมก็ต้องเรียนผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อขออนุญาต ถือเป็นมารยาททางการเมือง 

ส่วนความเหมาะสมที่พรรคจะเลือกใครก็เป็นเรื่องของพรรค เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทางการเมืองโดยตรง พรรคก็ต้องมองถึงผลประโยชน์ของพรรคสูงสุดว่า ใครจะลงในนามพรรคหรือไม่ลงในนามพรรค จะเป็นประโยชน์สูงสุดของพรรคของประเทศ

เมื่อถามว่าช่วงที่ผ่านมามีชื่อของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ประกาศลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ถูกมองว่าพรรค พปชร. ให้การสนับสนุนจะเป็นการแย่งคะแนนกันหรือไม่ นายณัฎฐพล กล่าวว่า ถ้าเอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน การสนับสนุนเป็นการพูดกันในสื่อมวลชนเฉยๆ พรรคยังไม่ได้มีการประชุม ซึ่งจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการสรรหา 



การเลือกตั้งขนาดใหญ่แบบนี้พรรคจะต้องมีกระบวนการสรรหาหรือกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) อาจจะมองว่ามีความเสี่ยงเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ใหญ่ถูกจับตามองเยอะจะเป็นปัญหาในการตีความอะไรต่างๆ ไม่อยากเอาการบริหารจัดการประเทศมาเกี่ยวข้องกับการที่จะมีปัญหาทางกฎหมายต่างๆ ก็อาจจะไปทางออกเหมือนกับที่หัวหน้าพรรคได้พูดไว้ในเรื่องการไม่ส่งใครลงสมัครในนามของพรรค เหมือนกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ผ่านมา ตรงนี้เป็นแนวทางที่น่าจะพอมองเห็นแนวทาง

เมื่อถามว่า อาจทำให้สังคมมองว่าจะขัดกับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาตรา 34  นายณัฎฐพล กล่าวว่า ถ้าภรรยาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. จริง ผมก็คงไปหาเสียงไม่ได้ อันนี้เป็นปกติ

ส่วนจะไปห้ามคนๆหนึ่งไม่ให้เสนอเป็นตัวแทนประชาชนในขณะที่เขาเป็นนักการเมืองและทำงานการเมืองมา และถ้าดูกันจริงๆ ผมก็ทำงานแยกกันมาตลอดในด้านท้องถิ่น หรือระดับชาติ 

ฉะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องดูถึงพื้นฐานด้วยไม่ใช่อยู่ๆ ผม จะผลักดันภรรยามาเป็นนักการเมือง มันไม่ใช่ แต่เขาเป็นนักการเมืองอยู่แล้ว แค่บังเอิญอยู่ในครอบครัวเดียวกันเท่านั้น และใน กทม. ก็อาจจะมีครอบครัวแบบนี้ไม่ได้เยอะมาก

เมื่อถามอีกว่า ยืนยันว่าถึงอย่างไรภรรยาก็ยังเสนอตัวที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใช่หรือไม่ นายณัฎฐพล กล่าวว่า เขาตัดสินใจที่จะเสนอตัวลงแน่นอน 
ส่วนจะลงในนามอิสระใช่หรือไม่ นายณัฎฐพล กล่าวว่า ต้องดูทีมของนางทยา เพราะเขาทำงานมีทีมวิเคราะห์ถึงเรื่องต่างๆ โอกาสในการที่จะต่อสู้นโยบายนายทยามีวิธีการบริหารจัดการไม่ได้มาผูกพันกับตนเลย การที่คนใดคนหนึ่งบังเอิญเป็นภรรยา อย่างกรณีของผมที่มีการเสนอตัวมาขึ้นอยู่กับว่าทางพรรคจะพิจารณาอย่างไร

เมื่อถามต่อว่ามีกระแสข่าวว่าพร้อมที่จะลาออกถ้าพรรค พปชร. ไม่สนับสนุนภรรยาลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่า กทม. นายณัฎฐพล กล่าวว่า  ไม่ใช่ ไม่จริง และดูในข่าวมีหลายประเด็นที่ไม่ถูกต้อง 

ผมอยู่ในพรรค พปชร. ต้องเคารพในกติกาของพรรค ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงมารยาทในทางการเมือง ต้องรอความชัดเจนของกรรมการสรรหาพรรคว่าจะพิจารณาอย่างไร หรือจะพิจารณาใคร ซึ่งอาจจะมีการพิจารณานางทยาด้วย  หากพรรคตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่ง ผม ก็ต้องดูความเหมาะสมในเรื่องของมารยาท
 ขณะเดียวกันความปลอดภัยของพรรคเราจะไม่เอาการแข่งขันในระดับใดมาเป็นความเสี่ยงหรือทำให้เกิดปัญหากับพรรคอย่างแน่นอน

เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. แล้วหรือไม่ นายณัฎฐพล กล่าวว่า ได้พูดคุยกันแล้ว เป็นการเตรียม ของอนุญาต ซึ่งเป็นมารยาทที่ต้องทำ เพราะภรรยาของตนเองที่เป็นนักการเมืองสนใจเสนอตัวเป็นผู้สมัครลงผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งพล.อ.ประวิตร ไม่ได้ว่าอะไร ก็รับทราบ 

เมื่อถามว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรคหรือไม่ นายณัฎฐพล กล่าวว่า คงไม่ น่าจะคิดกันไปเองให้เป็นประเด็น 

ส่วนในพรรคจะมีความเห็นหรือความเหมาะสมว่าใครควรจะลงในระดับท้องถิ่นก็เป็นความแตกแยกที่ปกติอยู่แล้วในการเสนอตัวของผู้สมัครทุกระดับก็ต้องมีมากกว่า 1 คน แต่พรรคก็ต้องเลือกคนที่ดีที่สุด ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ แล้วตนไม่ได้อยากจะพูดอะไรมาก 

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นพรรคการเมืองสามารถสนับสนุนได้ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการหาเสียงต่างๆมีความเสี่ยงที่จะมาเกี่ยวข้อง 
แม้แต่การสรรหาตัวผู้สมัครทางพรรคก็พิจารณาว่าจะสรรหาอย่างไร แต่พรรค พปชร. เลือกตั้งที่จะไม่สนับสนุนใครเลยในการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่นเดียวกับการเลือกนายก อบจ.  ผู้ว่าฯ กทม. แนวทางก็ไม่ได้แตกต่าง

“ข่าว 2 วันที่ผ่านมาอาจมีความผิดเพี้ยนในบางเรื่อง แต่ ทยา ตัดสินใจเสนอเป็นตัวเลือกในการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ก็แค่นั้น นั้นคือเรื่องใหญ่สุด ส่วนหลังจากนั้นจะมาเกี่ยวข้องกับพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคจะต้องมาพิจารณาเรื่องความเหมาะสมเขาตั้งใจที่จะทำงานเพื่อการเมือง คงไปห้ามไม่ได้ ผมเป็นสามียังห้ามไม่ได้” นายณัฎฐพล  กล่าว












©2018 CK News. All rights reserved.