"หมอยง" แนะทำความเข้าใจ โควิด-19 วัคซีน กับอาการไม่พึงประสงค์


4 มิ.ย. 2564, 17:15

"หมอยง" แนะทำความเข้าใจ โควิด-19 วัคซีน กับอาการไม่พึงประสงค์




( 4 มิ.ย.64 ) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุว่า

ขณะนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19  ไปแล้วไม่น้อยกว่า 2 พันล้านโดส ไม่เคยมีวัคซีนใดที่ฉีดได้รวดเร็วและมากเท่านี้
อาการไม่พึงประสงค์ ต้องแยกจากอาการข้างเคียง

อาการไม่พึงประสงค์ เกิดขึ้น หลังการให้วัคซีน เป็นเหตุการณ์อะไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นหลังการให้วัคซีนใน 2 สัปดาห์ เราจะรวบรวมเป็นอาการไม่พึงประสงค์ แล้วสรุป ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ เป็นความเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน น่าจะเกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวข้อง จึงต้องอาศัยการช่วยวิเคราะห์อย่างละเอียด 

อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังว่า ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ใน 2 วันต่อมา ก็ถือว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์อย่างร้ายแรง แต่เมื่อไปศึกษารายละเอียด พบว่าการเสียชีวิตถูกยิงตาย ก็ต้องศึกษาต่อไปอีกว่า วัคซีนมีผลทำให้พฤติกรรมก้าวร้าว หรือไม่ ถ้าก้าวร้าวแล้วถูกยิงตาย วัคซีนก็อาจจะเป็นสาเหตุได้  


ผมอยู่ในการศึกษาวัคซีนมามาก แม้กระทั่งฉีดวัคซีนไปแล้ว เดินออกจากโรงพยาบาล เดินตกท่อ ก็ยังต้องหาสาเหตุว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ เพราะวัคซีนอาจทำให้เวียนศีรษะ แล้วเดินตกท่อก็ได้ แต่ถ้าไปเดินสะดุดแล้วตกท่อ ก็ไม่น่าจะเป็นสาเหตุ

 



ในขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปถึง 3.8 ล้านโดส ถ้าเฝ้าระวังอาการ เอาแค่ 7 วันก็พอ ก็เท่ากับ ไม่น้อยกว่า  25 ล้านวัน ชีวิตคน หรือเท่ากับ 65 หมื่นปี หรือเรียกง่ายๆ คนเรามีอายุ 80 ปี ก็อย่างน้อย 800 คน ที่เมื่อนับรวมวันกัน ตั้งแต่เกิดจนตายก็จะเท่ากับ 25 ล้านวัน ฟังดูแล้วเข้าใจยากไปหน่อย ถ้าพูดง่ายๆ ชีวิต 25 ล้านวัน เท่ากับชีวิตของคน 800 คน ที่มีอายุอยู่ถึง 80 ปี เมื่อวันเวลาดังกล่าวดังที่ยกตัวอย่างก็ต้องมีการเสียชีวิต ตามโลกแห่งความเป็นจริง แต่การให้วัคซีนส่วนใหญ่แล้วให้กับคนแข็งแรง เหตุการณ์จึงไม่ได้เกิดถึงขนาดนั้น

ดังนั้นเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะอาการใหม่ จะต้องมีการรายงาน ว่าโรคนั้นเกี่ยวข้องกับหรือเป็นอาการข้างเคียงกับวัคซีนหรือไม่ เช่น การให้วัคซีนไวรัส Vector  เกิดการมีลิ่มเลือดและมีเกล็ดเลือดต่ำ (คนละโรคกับเส้นเลือดดำอุดตัน) โรคนี้ก็พบได้อยู่แล้ว แต่เมื่อมาเปรียบเทียบกับอุบัติการณ์ของคนปกติที่พบในชีวิตจริง แล้วพบว่าเกิดจากวัคซีนได้มากกว่า ก็เป็นที่ยอมรับว่า การเกิดลิ่มเลือดชนิดที่มีเกล็ดเลือดต่ำ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนชนิด virus Vector  แต่อุบัติการณ์จะเกิดในคนอายุน้อย และมีอุบัติการณ์ทั้งสิ้นประมาณ 1 ในแสน เมื่อเทียบประโยชน์แล้วมีมากกว่าก็เดินหน้าให้วัคซีน และโรคดังกล่าวก็รักษาได้ ถ้ารู้เร็ว

เช่นเดียวกันการฉีดวัคซีน mRNA  เช่นของ Pfizer  ขณะนี้มีรายงานการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในคนอายุน้อย ข้อมูลนี้กำลังเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในอเมริกาและอิสราเอล เริ่มให้ความสำคัญ ก็จะต้องศึกษาเพิ่มเติมว่า อุบัติการณ์ในการฉีดวัคซีนในคนอายุน้อยของ Pfizer  มีโอกาสเกิดมากกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด แล้วเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเท่าใด จะต้องคำนึงถึงผลได้ของวัคซีนเปรียบเทียบกับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ ผลระยะยาวของหัวใจ


วัคซีนที่ใช้อยู่ขณะนี้เป็นวัคซีนใหม่ จึงจำเป็นต้องบันทึกอาการไม่พึงประสงค์ ลงอย่างละเอียด และจำเป็นต้องใช้นักวิชาการมาวิเคราะห์ และคำนึงถึง ประโยชน์ที่ได้ กลับผลเสียที่จะเกิดจากการฉีดวัคซีน เราจำเป็นจะต้องใช้ทั้งเหตุและผล เข้ามาร่วมการตัดสินใจ 

ข่าวในเชิงลบ จะออกมาเร็วและผู้คนสนใจ แต่เมื่อความจริงปรากฏว่า เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ก็มักจะไม่เป็นข่าวออกมาเลย เช่นในรายการเสียชีวิต จะเป็นข่าวอย่างรวดเร็ว แต่ผลของการสอบสวนต้องใช้เวลา และเมื่อผลสอบสวนออกมาแล้ว ก็มักจะไม่ได้เป็นข่าวแล้ว


คำที่เกี่ยวข้อง : #หมอยง   #วัคซีนโควิด-19  









©2018 CK News. All rights reserved.