หมอยงยันภูมิพุ่งปรี๊ดใน 6 สัปดาห์ หลัง WHO ค้านฉีดวัคซีนสูตรผสม


15 ก.ค. 2564, 10:20

หมอยงยันภูมิพุ่งปรี๊ดใน 6 สัปดาห์ หลัง WHO ค้านฉีดวัคซีนสูตรผสม




 “วัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรผสม”  ระหว่างซิโนแวค (เข็มที่ 1)+แอสตราเซเนกา (เข็มที่ 2) ซึ่งนพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้วิจัยยืนยันว่าสร้างภูมิต้านทานได้สูงในเวลาเพียง 6 สัปดาห์เร็วกว่าวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ (แอสตราเซเนกา) ที่ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์วัคซีนสูตรผสมนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ  จันทร์ที่ 12 ก.ค. โดยมีผลบังคับใช้ทันทีทั่วประเทศ ตอนนี้คนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไปก่อนหน้านี้กว่า 3 ล้านคนกำลังมึนงงพวกเขาจะไปยังไงต่อต้องฉีดเข็ม 3 ไวรัสเวกเตอร์หรือไม่กระทรวงสาธารณสุขควรต้องมีคำตอบ



นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไวรัสวิทยาคลินิกคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เปิดเผยว่า สูตรการสลับชนิดวัคซีนทางศูนย์ฯได้มุ่งมั่นศึกษาวิจัยโดยทีมนักวิทยาศาสตร์และคณะแพทย์กว่า 30 ชีวิต เพื่อนำมาใช้อย่างเร่งด่วนในประเทศไทยให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่การสลับชนิดของวัคซีนพบว่าการให้วัคซีนเข็มแรกเป็นเชื้อตายแล้วตามด้วยไวรัสเวกเตอร์จะกระตุ้นได้ดีมาก

การให้วัคซีนเชื้อตาย  เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราเคยติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาระดับหนึ่งและสร้างความคุ้นเคยกับระบบภูมิต้านทานเมื่อกระตุ้นด้วยวัคซีนต่างชนิดกันโดยเฉพาะไวรัสเวกเตอร์จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Booster Effect เหมือนกับคนที่หายแล้วจากโรคโควิด-19 ได้รับการฉีดวัคซีนเสริมอีก 1 ครั้งก็จะกระตุ้นภูมิต้านทานได้เช่นเดียวกันซึ่งเราได้ทำการทดลองแล้ว

นพ.ยงกล่าวว่า การศึกษานี้ไม่ได้ทำเฉพาะการตรวจวัดภูมิต้านทานเท่านั้นแต่ยังได้ทำ “ภาวะการขัดขวางไวรัส Inhibition Test” ซึ่งสามารถขัดขวางได้ดีมากเฉลี่ยถึง 95% บางรายถึง 99%  ในทำนองเดียวกันการฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มยิ่งสอนให้ร่างกายเหมือนการติดเชื้อจริงแบบเต็มๆหรือแบบรุนแรงเมื่อมากระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัสเวกเตอร์จึงมี Booster Effect ที่สูงมากการศึกษาวิจัยของเราไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้เรากำลังศึกษา “สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย)” และระบบภูมิคุ้มกันชนิดที่เรียกว่าT-cell หรือCMIR

นพ.ยง  เปิดเผยด้วยว่าการศึกษานี้ฝรั่งตามไม่ทันแน่นอนเพราะฝรั่งไม่ได้ใช้วัคซีนเชื้อตายและจีนก็ไม่ได้ใช้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์  ข้อมูลลักษณะนี้ผมมีเป็นจำนวนมากมากพอที่จะสรุป “ข้อดี” ที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขยอมรับและนำไปปรับใช้ในเชิงนโยบายก็คือทำให้ผู้ได้รับวัคซีนมีภูมิต้านทานสูงภายใน 6 สัปดาห์เร็วกว่าวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ที่ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์เหมาะสมกับโรคที่กำลังระบาดซึ่งเรารอไม่ได้  และเป็นการใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ในขณะนี้ที่มีจำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุดส่วนการกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนไวรัสเวกเตอร์สามารถทำให้เกิดภูมิต้านทานที่สูงมากโดยไม่ต้องรอวัคซีนชนิดอื่นเพื่อประโยชน์ของบุคลากรทางการแพทย์


แต่ดูเหมือนองค์การอนามัยโลก  จะไม่เห็นด้วยกับการฉีดวัคซีนสูตรผสมของไทยโดยระบุว่าเป็นการสร้าง “เทรนด์อันตราย” เพราะยังไม่มีข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพหลายประเทศอาจจะโกลาหลกว่าเดิมหากประชาชนมีโอกาสเลือกตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ที่ 3 หรือ 4 ได้เมื่อไหร่และจะใช้วัคซีนของผู้ผลิตรายใด

ความจริงการฉีดวัคซีนสูตรผสมผมค้นดูข้อมูลย้อนหลังมีใช้กันหลายประเทศแล้วเช่นบาห์เรนยูเออี  เข็มแรกซิโนฟาร์มเข็ม 2 ไฟเซอร์, เยอรมนีนายกฯอังเกลาแมร์เคิลฉีดเข็มแรกแอสตราฯเข็ม 2 โมเดอร์นา, เกาหลีใต้เข็มแรกแอสตราฯเข็ม 2 ไฟเซอร์มีทั้งเชื้อตาย+ไวรัสเวกเตอร์และไวรัสเวกเตอร์+mRNA ผสมกันหลายสูตรเหมือนค็อกเทลแต่ผลออกมาสร้างภูมิต้านทานไวรัสโควิด-19 สูงขึ้นกันทั้งนั้นงานนี้ WHO อาจผิดก็ได้.


คำที่เกี่ยวข้อง : #หมอยง  









©2018 CK News. All rights reserved.