ประกาศตร. ใช้มือถือขณะขับรถ ต้องเชื่อมอุปกรณ์ไร้สาย ฝ่าฝืนมีโทษ 400-1,000 บาท


15 ต.ค. 2565, 11:32

ประกาศตร. ใช้มือถือขณะขับรถ ต้องเชื่อมอุปกรณ์ไร้สาย ฝ่าฝืนมีโทษ 400-1,000 บาท




 

วันที่ 15 ตุลาคม 2565 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนน เพื่อลดการสูญเสียและการบาดเจ็บของประชาชน ซึ่งปัจจุบันผู้ขับขี่รถมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ โดยเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดการเกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) จึงมีประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ขับขี่ขณะขับรถ พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 43(9) แห่งพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้ผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้

1.ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อแบบไร้สาย อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาหรือระบบกระจายเสียง จากเครื่องโทรศัพท์ โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่

2.ใช้อุปกรณ์เสริมพิเศษสำหรับยึดหรือติดโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้กับส่วนหน้าของตัวรถทุกครั้ง ก่อนการขับรถ โดยต้องไม่บดบังทัศนวิสัยหรือเสียความสามารถในการขับรถ กรณีผู้ขับขี่มีความจำเป็นต้องถือ จับ หรือสัมผัสโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อใช้งานโดยประการใดๆ ให้ผู้ขับขี่หยุดหรือจอดรถในสถานที่สำหรับจอดรถอย่างปลอดภัย ก่อนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(9) ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดขณะที่รถเคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น และเพื่อให้กฎหมาย ทันต่อสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต และเพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้

จึงกำหนดให้หลังจากประกาศฉบับนี้ใช้บังคับแล้วเป็นระยะเวลา 5 ปี หรือเมื่อมีเหตุจําเป็นอื่น ให้มีการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ และวิธีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ขับขี่ขณะขับรถ โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณา

ทั้งนี้ รัฐบาลห่วงใยประชาชนจากหลายกรณีเคยมีปัญหารับโทรศัพท์ขณะขับขี่ รวมถึงหลายกรณีที่เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตของผู้ขับขี่เองและของผู้ร่วมใช้ถนนคนอื่นๆ ที่ผ่านมารัฐมีกลไกหลายแบบที่จะช่วยบรรเทาปัญหาและแก้ไขปัญหาการโทรระหว่างขับขี่ให้ดีขึ้น จึงขอความร่วมมือผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎหมายร่วมกันช่วยลดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและผู้อื่น ร่วมกันสร้างสังคมให้มีความปลอดภัยในการขับขี่ต่อไป





คำที่เกี่ยวข้อง : #มือถือ  









©2018 CK News. All rights reserved.