ปชช.แจ้งเบาะแสแหล่งผลิต หรือจำหน่าย"แบงก์ปลอม” จนนำไปสู่การจับกุม รับรางวัลนำจับสูงสุด 100,000 บาท


31 ต.ค. 2565, 11:51

ปชช.แจ้งเบาะแสแหล่งผลิต หรือจำหน่าย"แบงก์ปลอม” จนนำไปสู่การจับกุม รับรางวัลนำจับสูงสุด 100,000 บาท




วันที่ 31 ตุลาคม 2565 ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องผู้แจ้งความนำจับ "แบงก์ปลอม" รับรางวัลนำจับสูงสุด 100,000 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

ประชาชนที่แจ้งเบาะแสแหล่งผลิตหรือแหล่งจำหน่าย "แบงก์ปลอม" จนนำไปสู่การสืบสวนจับกุมตัวผู้กระทำความผิด ทางการได้ตั้งเงินสินบนให้กับผู้แจ้งความและเงินรางวัลให้กับผู้จับกุมธนบัตรปลอมแปลง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลการจับกุมการปลอมแปลงธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2529 ดังนี้

เงินสินบนจ่ายให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ  "แบงก์ปลอม" ตามหลักเกณฑ์วิธีการ ดังนี้

กรณีที่ 1 จับได้ตัวผู้ต้องหาและของกลางเป็นอุปกรณ์ ให้จ่ายเงินสินบนในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาอุปกรณ์ตามที่กรมธนารักษ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วแต่กรณีประเมินราคา แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

กรณีที่ 2 จับได้ตัวผู้ต้องหาและของกลางเป็นธนบัตรปลอม ให้จ่ายเงินสินบนในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาในหน้าธนบัตรปลอม หรือเหรียญกษาปณ์ปลอมที่จับได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เงินรางวัลจ่ายให้แก่ผู้จับกุม ตามหลักเกณฑ์วิธีการ ดังนี้

กรณีที่ 1 จับได้ตัวผู้ต้องหาและของกลางเป็นอุปกรณ์ ให้จ่ายเงินรางวัลในอัตราไม่เกินร้อยละ 25 ของราคาอุปกรณ์ตามที่กรมธนารักษ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วแต่กรณีประเมินราคา แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

กรณีที่ 2 จับได้ตัวผู้ต้องหาและของกลางเป็นธนบัตรปลอม ให้จ่ายเงินรางวัลในอัตราไม่เกินร้อยละ 25 ของราคาในหน้าธนบัตรปลอม หรือเหรียญกษาปณ์ปลอมที่จับได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ในกรณีที่จับกุม "แบงก์ปลอม" ได้โดยไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับกุมไม่เกินร้อยละ 30 แล้วแต่กรณี ซึ่งการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจะจ่ายให้ทันทีครึ่งหนึ่ง เมื่ออัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา และเมื่อศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิด จะจ่ายให้อีกครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ การขอรับเงินสินบน เงินรางวัล ให้ผู้แจ้งความนำจับหรือผู้จับกุมยื่นคำขอต่อบุคคลต่อไปนี้ภายใน 90 วัน นับแต่วันสั่งฟ้องผู้ต้องหา หรือวันที่คดีถึงที่สุดแล้วแต่กรณี

1. ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่ออธิบดีกรมธนารักษ์

2. ในส่วนภูมิภาค ให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งได้รับคำขอ ส่งคำขอรับเงินสินบน หรือเงินรางวัล พร้อมด้วยหลักฐานไปยังอธิบดีกรมธนารักษ์ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอรับเงิน

https://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/Pages/counterfeit.aspx

หากมีผู้นำ "แบงก์ปลอม" มาใช้กับท่าน ควรสอบถามรายละเอียด เช่น ได้มาอย่างไร จากใคร ที่ใด เป็นต้น รวมถึงจดจำลักษณะรูปพรรณและสิ่งอื่น ๆ เกี่ยวกับผู้นำมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลในการสืบสวนจับกุม และแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ หรือโทรศัพท์แจ้งสถานีตำรวจท้องที่ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 0 2356 7987





คำที่เกี่ยวข้อง : #แบงก์ปลอม  









©2018 CK News. All rights reserved.