วันที่ 18 เม.ย.2568 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมด้วย ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนทุกภาคส่วนทั่วประเทศผ่านระบบ Video Conference
นายอนุทิน กล่าวว่า ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ช่วงสงกรานต์เรามีสถิติใหม่ของการดำเนินการศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.68 รวม 7 วัน จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนดำเนินการอย่างเข้มข้น ส่งผลให้มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ในอัตราที่ลดลงเกือบ 1 ใน 4 เรียกได้ว่า ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลจากการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนในทุกระดับอย่างแท้จริง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ในเรื่องของการใช้ความเร็ว โดยมีจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไป เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด
ในฐานะตัวแทนรัฐบาลขอขอบคุณคณะอนุกรรมการฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ทุกระดับ ที่ได้มุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละวันหยุดเพื่อมาปฏิบัติงานทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยความปลอดภัยและมีความสุข ทั้งการมอบสิ่งของและเครื่องดื่มในการสนับสนุนการตั้งด่าน และขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชนที่ได้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างดียิ่ง อันเป็นกำลังใจให้เราขับเคลื่อนให้จำนวนอุบัติเหตุลดลง ๆ เพราะเป็นภารกิจของเราที่จะต้องช่วยกันดูแลชีวิตของประชาชน และป้องกันอันตรายต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ถอดบทเรียนและนำสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ ไปพัฒนารูปแบบ ปรับปรุงการรณรงค์ต่างๆให้จำนวนลดลงอีกในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2569 และในเทศกาลต่อ ๆ ไป เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ มีความปลอดภัยทางถนนได้อย่างยั่งยืน
สำหรับสรุปจำนวนอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11-17 เม.ย.68) เทียบกับปี 67 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,538 ครั้ง (ลดลง 506 ครั้ง) คิดเป็น ร้อยละ 24.76 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ พัทลุง 63 ครั้ง ลำปาง 52 ครั้ง และนราธิวาส 49 ครั้ง
ผู้บาดเจ็บรวม 1,495 คน (ลดลง 565 คน) คิดเป็นร้อยละ 27.43 จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ พัทลุง 61 คน ลำปาง 58 คน และนราธิวาส 53 คน
ผู้เสียชีวิต รวม 253 ราย (ลดลง 34 ราย) คิดเป็นร้อยละ 11.85 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 19 ราย พิษณุโลก สระแก้ว และเชียงราย 10 ราย และนครราชสีมา 9 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 41.68 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.86 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 19.38 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 63.33 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 19.34 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 18.88
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.34 ประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุ ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.17 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด เวลา 15.00-18.00 น. ร้อยละ 20.68 เวลา 18.01-21.00 น. ร้อยละ 20.16 ขณะที่ช่วงอายุผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด 20-29 ปี ร้อยละ 19.16
ในห้วง 7 วันอันตรายมีผู้ถูกเข้ากระบวนการคุมประพฤติตามกฎหมาย จำนวน 6,405 คดี โดยพบว่าเป็นความผิดฐานขับรถขณะเมาสุรา 6,100 คดี ซึ่งจังหวัดที่มีสถิติขับรถขณะเมาสุราสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 406 คดี สมุทรปราการ 351 คดี และเชียงใหม่ 302 คดี
©2018 CK News. All rights reserved.