วันที่ 28 เม.ย.2568 พ.ต.ท.ศักดิ์สะท้าน เปรื่องชะนะ รอง ผกก.1 บก.ปอศ., พ.ต.ต.วิสศรุษฏ์ ไทยจันอัด สว.กก.1 บก.ปอศ., ร.ต.อ.วิพัฒนกิจ บุญวาสนา, ร.ต.อ.จาคี แข็งขัน รอง สว.กก.1 บก.ปอศ., และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก. ปอศ. ร่วมกันตรวจจับกุมผู้ต้องหา นายหยางจิน (MR.YANG JIN) สัญชาติ จีน อายุ 48 ปี พร้อมด้วยของกลาง เสื้อผ้า เครื่องประดับ นาฬิกา สร้อยคอ ต่างหูที่ปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร และขนมอัลมอนด์เคลือบช็อกโกแลต รวมของกลางกว่า 27,856 ชิ้น ตรวจพบภายในร้านค้าไม่ติดชื่อเลขที่ ของห้างย่านประตูน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร และร้านค้าในเครืออีก 2 ร้าน
เพื่อดำเนินคดีในความผิดฐาน “ร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร”
สถานที่จับกุม บริเวณร้านค้าไม่ติดชื่อเลขที่ ห้างย่านประตูน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
พฤติการณ์ ด้วยเจ้าพนักงานตำรวจ กก.1 บก.ปอศ. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 โดยได้สืบทราบว่ามีชาวจีนได้ลักลอบจำหน่ายสินค้าปลอม และขนมที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นสินค้าที่ปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรภายในร้านค้าในห้างย่านประตูน้ำ จากนั้นได้ทำการสืบสวนเพิ่มเติมจนทราบว่าบัญชีธนาคารผู้รับชำระค่าสินค้าคือ นายหยางจิน (MR.YANGJIN) จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเข้าตรวจค้น
ต่อได้นำหมายค้น จึงได้นำหมายค้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เข้าทำการตรวจค้น ขณะตรวจค้นได้พบนายหยางจิน (MR.YANGJIN) แสดงตัวเป็นเจ้าของสินค้า จึงได้ทำการจับกุม โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าสินค้าเป็นของตนเอง โดยทำร่วมกับเพื่อนชาวจีนอีกหนึ่งคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ทำการขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดต่อไป จึงได้แจ้งข้อหาและสิทธิตามกฎหมาย จากนั้นได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ฝากเตือนภัยพี่น้องประชาชน การลักลอบจำหน่ายขนมอัลมอนด์เคลือบช็อกโกแลตปลอม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคอย่างรุนแรง เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบเสื่อมคุณภาพหรือสารทดแทนราคาถูก เช่น น้ำมันปาล์มเกรดต่ำ สีผสมอาหารต้องห้าม หรือสารกันเสียเกินมาตรฐาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้, พิษสะสมในตับไต และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้
นอกจากนี้ เครื่องประดับปลอมที่ใช้โลหะหนัก เช่น ตะกั่วหรือแคดเมียม ยังสามารถก่อสารพิษเมื่อติดผิวหนังหรือสูดดมในระยะยาว สำหรับเศรษฐกิจไทย การนำเข้าสินค้าปลอมสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ ลดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และบ่อนทำลายภาพลักษณ์การค้าปลีกของไทยในสายตาต่างชาติ
©2018 CK News. All rights reserved.