วันที่ 3 พ.ค.2568 ปัญหาสุขภาพช่องปากกำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ มีจำนวนมากถึง 40.25 ล้านคน ตามข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปี 2566
ช่องปาก คือ ด่านแรกที่สะท้อนสุขภาพโดยรวมของร่างกายในระยะยาว แต่จากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2566 พบว่า มีเพียง 10.2% ของวัยทำงานเท่านั้น ที่ใช้บริการทางทันตกรรมในรอบ 12 เดือน แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 9.9% ในปี 2564 ก็ตาม โดยวัยทำงานในกรุงเทพมหานคร มีอัตราการใช้บริการสุขภาพช่องปากมากที่สุด และวัยทำงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการใช้บริการสุขภาพช่องปากน้อยที่สุด และ จังหวัดระยองนับเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่คนวัยทำงานมีปัญหาด้านสุขภาวะในช่องปากรุนแรงมาก จากจำนวนประชากรประมาณ 7.5 แสนคน และมีประชากรแฝงอีกประมาณ 7.9 แสนคน
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม อดีต ผอ.สำนักทันตสาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิกรมอนามัย และ ผู้จัดการโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพช่องปากเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการตามสิทธิในกลุ่มวัยทำงาน สสส. เปิดเผยในเรื่องนี้ว่า การขับเคลื่อนงานด้านทันตกรรมโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนวัยทำงาน จะส่งผลดีต่อสุขภาพคนในครอบครัว เพราะกลุ่มคนทำงานดูแลทั้งผู้สูงอายุและเด็ก ถ้าคนกลุ่มนี้เข้าใจสามารถปฏิบัติได้ก็จะส่งต่อ และดูแลคนในครอบครัวอย่างผู้สูงอายุ และเด็กด้วย
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนวัยทำงานในระยองละเลยการดูแลสุขภาพช่องปากคือ "เวลา" และ "พฤติกรรมการบริโภค" นั่นก็เพราะ จ.ระยองเป็นแหล่งผลไม้สำคัญของประเทศ ความหวานจากผลไม้ ผลไม้แปรรูป และพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ล้วนส่งผลให้ฟันผุได้ง่าย ประกอบกับตารางเวลาทำงานที่แน่นขนัดในโรงงาน ทำให้การเดินทางไปพบหมอฟันกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก
“การจะเข้าไปให้บริการที่โรงงานหรือบริษัทต่าง ๆ ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรนั้น ๆ ก่อน ทีมทันตแพทย์จึงจะเข้าให้ความรู้ได้เป็นการให้ความรู้เพื่อการใช้สิทธิตรวจสุขภาพช่องปากการดูแลตัวเองอย่างไรให้เหมาะสมและกรณีที่เจ็บป่วยต้องดูแลตัวเองอย่างไร หลายคนอาจไม่ทราบว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟันผุง่าย คือ ความหวานจากผลไม้ จ.ระยอง มีผลไม้มาก นี่อาจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ประกอบกับมีบริษัทและโรงงานมาก มีคนวัยทำงานจำนวนมาก เวลาทำงานก็ไม่สะดวกมาหาหมอ”
เพื่อลดอุปสรรคเหล่านี้ การนำ “รถทันตกรรมหรือ“รถทำฟันเคลื่อนที่”เข้าไปให้บริการในพื้นที่จึงเป็นทางเลือกที่โครงการนำ รถทันตกรรมเคลื่อนที่เข้าถึงสถานประกอบการจึงถูกพัฒนาขึ้นตอบโจทย์ให้บริการตรวจสุขภาพช่องปากอย่างถึงตัวกลุ่ม เป้าหมายโดยตรง
“แบบนี้หมอมองว่า ช่วยลดปัญหาการรับบริการตรวจช่องปากได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องใช้เวลา เพราะบุคลากรจากโรงพยาบาลก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน แต่การได้เริ่มต้นทำก็ดีกว่าไม่ได้ทำหรือไม่ได้ช่วยกันเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นเลย”
ทพญ.ปิยะดาระบุ ทพญ.ปิยะดา อธิบายเพิ่มเติมถึงปัญหาสุขภาวะในช่องปากมีสัมพันธ์กับความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน พบว่า มีความสัมพันธ์แบบ 2 ทางกับโรคในช่องปาก
โดยโรคเบาหวานทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในช่องปาก ทั้งโรคปริทันต์อักเสบ โรคเหงือกอักเสบ และโรคของเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปาก ผลที่ตามมาคือการสูญเสียฟัน ความชุกและความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพช่องปากอาจขึ้นกับชนิดของโรคเบาหวาน การควบคุมระดับน้ำตาล และพฤติกรรมของผู้ป่วย
ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่มีการดูแลสุขภาพช่องปากดี ไม่มีภาวะปริทันต์อักเสบ จะส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นอีกด้วย
ด้านทันตแพทย์หญิงเกศยา ทรัพย์สมพล รองผู้อำนวยการด้านภารกิจทันตกรรมสำหรับ โรงพยาบาลระยอง ในฐานะรพ.นำร่องที่ทำงานร่วมกับโครงการฯนี้ว่า รพ.ระยอง เป็นเครือข่ายดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โครงการทันตกรรมประกันสังคมเคลื่อนที่ ให้บริการด้านทันตกรรมกลุ่มวัยทำงานทั้งในเชิงรับ และเชิงรุกควบคู่กันไป สำหรับการทำงานเชิงรับ ให้บริการทันตกรรมคลินิกนอกเวลา โดยเน้นกลุ่มผู้ประกันตน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้สิทธิด้านทันตกรรม สร้างแรงจูงใจให้เข้ารับการรักษา ลดโรคลุกลามที่มารักษาหลังมีปัญหา ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งแบบมารับบริการเองและถูกส่งต่อจากทันตกรรมเชิงรุกผู้ป่วยจากโรงงาน
ส่วนการทำงานในเชิงรุก ได้จัดให้มีรถทันตกรรมพร้อมทันตบุคลากรไปให้บริการถึงโรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ดูแล และได้รับคำแนะนำ และยังเป็นการเข้าถึงระบบการรักษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเข้าไปสร้างความรอบรู้เรื่องสุขภาพช่องปากอีกด้วยงานบริการเชิงรุกเริ่มตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยช่วงแรกยังไม่มีรถเคลื่อนที่ใช้วิธีจัดกิจกรรมรณรงค์และ นัดหมายให้มาตรวจที่โรงพยาบาล แต่ผลตอบรับค่อนข้างต่ำ หลังจากได้รับรถทันตกรรมเคลื่อนที่ รพ.ระยอง ได้ขยายบริการอย่างเต็มรูปแบบ ปัจจุบันให้บริการใน 5 โรงงาน ด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่ 1 คันที่มีอุปกรณ์ทันสมัยและเตียงทำฟัน 2 ยูนิต รองรับได้ถึง 20 คน/วัน บริการครอบคลุมการตรวจสุขภาพช่องปาก ขูดหินปูน และอุดฟัน ตามวงเงินสิทธิประกันสังคม 900 บาท หากค่าใช้จ่ายเกินจากวงเงิน พนักงานสามารถใช้สวัสดิการบริษัทหรือจ่ายเงินเองได้ การให้บริการนี้มุ่งเน้นในช่วงเดือน ตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้เข้าไปให้บริการช่วงอื่นเพิ่ม แต่ทางรพ.เองก็มีข้อจำกัด เพราะการออกไปให้บริการแต่ละครั้งต้องเตรียมบุคลากรและการวางแผนหลายด้าน จึงเลือกทำเฉพาะช่วงโรงเรียนหยุดเด็กปิดเทอมก่อน
ในเรื่องความต้องการตรวจสุขภาพช่องปากของพนักงานนั้น คุณอัยยา มุ่งสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกทรัพยากรบุคคล บมจ.อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าโรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวยืนยันว่า ยังคงมีพนักงานจำนวนมากต้องการรับบริการตรวจสุขภาพช่องปาก ปีนี้จะเป็นปีแรกที่บริษัทฯร่วมโครงการฯรถทันตกรรมเคลื่อนที่ ได้คิวการให้บริการมา 2 วัน คุณหมอตรวจได้ 40 คน ขณะที่มีพนักงานอยากตรวจและลงทะเบียนหลักร้อยแต่ก็เข้าใจว่า รพ.ก็มีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน
“ ปีหน้าอยากให้คุณหมอขยายวันการให้บริการเพิ่ม เพื่อพนักงานจะเข้ารับบริการได้เพิ่มมากขึ้น เพราะบริษัทให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน และมองว่าถ้าพนักงานมีสุขภาพดีก็จะทำงานได้ดี ส่งผลให้บริษัทมีผลผลิตดีตามไปด้วย “
คุณอัยยา กล่าวในตอนท้ายการเริ่มต้นนำบริการไปถึงกลุ่มวัยทำงานเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพของคนในสังคมไทยในระยะยาว ทำให้การดูแลสุขภาพช่องปากไม่เพียงแต่ป้องกันปัญหาทางทันตกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการลงทุนในสุขภาพองค์รวมของประชากรไทยในอนาคตด้วย
©2018 CK News. All rights reserved.