วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผนึกความร่วมมือภาครัฐ เอกชน เร่งเดินหน้าผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพของภูมิภาค เตรียมจัดใหญ่ “MEDICAL FAIR THAILAND 2025”งานแสดงสินค้าชั้นนำระดับนานาชาติที่จัดขึ้นทุกสองปี ซึ่งเป็นเวทีที่รวมผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ และนักนวัตกรรม จากกว่า 40 ประเทศ ตอกย้ำบทบาทของประเทศไทยในฐานะประตูยุทธศาสตร์สู่ภูมิภาคอาเซียน พร้อมส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับโลกด้านนวัตกรรมและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในระบบสุขภาพด้าน 2 ภาครัฐในไทยได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ต่างเน้นย้ำว่า การพัฒนาภาคเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมนวัตกรรมในประเทศ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเร่งการนำเทคโนโลยีไปใช้จริงในประเทศ และยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในเวทีอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ระดับภูมิภาค ทางด้าน เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ยังได้เน้นย้ำถึงโอกาสสำคัญ 3 ด้านของอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศไทย ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ การผลิตเครื่องมือแพทย์ และโซลูชันการดูแลผู้สูงอายุ โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มศักยภาพที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดในประเทศเฉลี่ยปีละ 5.5 – 7.0% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่อัตรา 6.5 – 7.5% ต่อปี
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA กล่าวว่า NIA ในฐานะ ‘ผู้กำหนดทิศทางนวัตตกรรม’ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งขับเคลื่อนนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ‘Impact Tech’ ซึ่งนวัตกรรมการแพทย์ขั้นสูงเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่มีส่วนช่วยทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิต การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจระดับสูง และสอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Wellness and Medical Service Hub) โดยได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัยสำคัญ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับการดูแลระยะยาวและการฟื้นฟูสมรรถภาพ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเจ็บป่วยและโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนการขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ทำให้สถานพยาบาลในประเทศเร่งยกระดับเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรองรับผู้ป่วยจากต่างประเทศ
ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวโน้มที่เป็นไปในทิศทางบวก NIA จึงเห็นโอกาสของกลุ่มนวัตกรรมการแพทย์ไทยซึ่งพบว่าจะได้อานิสงส์มากขึ้นจากการเป็นทั้งผู้ผลิตเพื่อใช้ในประเทศ และการสร้างแบรนด์นวัตกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยหัวใจสำคัญคือ การยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ของไทยให้มีศักยภาพในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการกำหนดมาตรฐานนวัตกรรมทางการแพทย์ระดับภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ NIA ที่มุ่งสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีการแพทย์ของไทยอย่างครบวงจร
“Deep Tech ด้านการแพทย์ เช่น ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวินิจฉัย (AI Diagnostics) เทคโนโลยีจีโนมิกส์ (Genomics) หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical Robotics) และวัสดุทางชีวภาพขั้นสูง (Advanced Biomaterials) เป็นเทคโนโลยีที่มีอัตราการเติบโตสูงทั่วโลก และกำลังกลายเป็นข้อได้เปรียบเชิงโครงสร้างของประเทศที่สามารถพัฒนาได้เอง ทั้งนี้ หากไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง จะไม่เพียงช่วยลดการนำเข้า แต่ยังจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาค เพราะไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีฐานบุคลากรทางการแพทย์ ระบบสุขภาพ องค์ความรู้ และการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่หลากหลาย ทรัพยากรอันทรงพลังเหล่านี้จะทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตได้อีกด้วย
ที่ผ่านมา NIA มีการส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงลึกด้านการแพทย์มาอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิด 4G ได้แก่ Groom การสร้างย่านนวัตกรรมด้านการแพทย์เพื่อจุดประกายแนวทางการสร้างนวัตกรรม และการทดสอบการใช้งานในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีย่านนวัตกรรมการแพทย์ 4 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 2 แห่ง ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีและย่านนวัตกรรมการแพทย์ ศิริราช จังหวัดเชียงใหม่ 1 แห่ง ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก และจังหวัดขอนแก่น 1 แห่ง ได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์กังสดาล ส่งต่อด้วย Grant การสนับสนุนเงินทุนพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมทางการแพทย์ผ่านกลไกในหลากหลายรูปแบบเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ Growth ด้วยโปรแกรมเร่งสร้างการเติบโตด้านการแพทย์ ‘Spear H’ ที่จะขยายผลต่อยอดการลงทุน และสามารถออกสู่ตลาดต่างประเทศ Global และสร้างแบรนด์นวัตกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก เช่น การเข้าร่วมงาน Medica 2024 ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ถือเป็นตลาด MedTech ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก”
ดร.กริชผกา กล่าวเสริมว่า เพื่อให้สตาร์ตอัปและเอสเอ็มอีไทยกลุ่มนวัตกรรมการแพทย์มีโอกาสขยายตลาดมากขึ้น ในปีนี้ NIA จึงได้ร่วมกับ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย และภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน นำสตาร์ตอัปภายใต้การสนับสนุนของ NIA จำนวน 8 ราย เข้าร่วม MEDICAL FAIR THAILAND 2025 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่ไม่เพียงเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัปไทยได้นำเสนอนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการของตลาดเป้าหมาย แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมให้เข้าถึงเครือข่ายพันธมิตรด้านการแพทย์ระดับภูมิภาค พร้อมต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และโมเดลธุรกิจ ควบคู่กับการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแพทย์ไทยอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญที่จะสะท้อนความแข็งแกร่งของระบบนวัตกรรมการแพทย์ไทย และส่งเสริมให้เกิดการใช้แบรนด์ไทยที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีการพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศในมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นล้านบาทต่อปี สาเหตุสำคัญในอดีตคือการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ในอัตราต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนไอเดียหรือบุคลากรที่มีความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย การสนับสนุนที่ยังไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเต็มที่ ในฐานะหน่วยงานหลักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ สวทช. จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเชิงลึก (Upstream R&D) เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้า และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องมือแพทย์
ปัจจุบัน สวทช. มีฐานข้อมูลองค์ความรู้และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาขาการแพทย์และสุขภาพกว่า 700 เรื่อง ครอบคลุมตั้งแต่งานวิจัยด้านวัสดุชีวภาพ (biomaterials), อุปกรณ์ฝังร่างกาย (implants), เทคโนโลยีการวินิจฉัยและตรวจโรค, ไปจนถึงเทคโนโลยีชีวภาพและเวชศาสตร์ฟื้นฟู งานวิจัยจำนวนมากพร้อมถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ ตัวอย่างเช่น M-Bone ‘วัสดุทดแทนกระดูกสำหรับปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์’ ซึ่งเป็นวัสดุทดแทนกระดูกชนิดแรกของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานสากล ช่วยลดการนำเข้าวัสดุปลูกกระดูกจากต่างประเทศได้มากกว่าร้อยล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ สวทช.ยังส่งเสริมให้ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ในภาคบริการสุขภาพ ผ่านความร่วมมือกับโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการนวัตกรรมด้านเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริงในระดับประเทศ
“สวทช. ไม่ได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาเทคโนโลยีในห้องปฏิบัติการ แต่ยังมุ่งสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ระบบสุขภาพยุคใหม่ โดยเฉพาะในบริบทของสังคมผู้สูงอายุ การแพทย์เฉพาะบุคคล และระบบสุขภาพเชิงป้องกัน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดรับกับเทรนด์ใหม่ เช่น IoT, 5G, AI และ Machine Learning
เวที MEDICAL FAIR THAILAND 2025 ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพไทยต่อสายตานานาชาติ สวทช. พร้อมทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนเวทีโลก”
นางสาวซี เลย์ อิง Deputy Portfolio Director MEDICARE ASIA บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เปิดเผยว่า จากข้อมูลเชิงลึกของตลาดในภูมิภาคและแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม พบว่าประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางด้านนวัตกรรมการแพทย์ ซึ่งเกิดจากแรงขับเคลื่อนของการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง การเติบโตของอุตสาหกรรมภายในประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
จากความโดดเด่นทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณสุขที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ รวมถึงนโยบายจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เปิดกว้างต่อการลงทุนในเทคโนโลยีสุขภาพ ซึ่งถือเป็นรากฐานที่เข้มแข็งต่อการขยายตัวทั้งในเชิงเทคโนโลยี นวัตกรรม และบริการสุขภาพระดับนานาชาติ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ยังได้มีการประเมินโอกาสทางด้านการแพทย์ของไทยซึ่งพบอานิสงส์และดีมานด์สำคัญได้แก่
· การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ภูมิภาคอาเซียนเป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ โดยมีประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์เป็นผู้ให้บริการชั้นนำ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทางการแพทย์ด้วยทางเลือกการรักษาที่ราคาไม่แพง มาตรฐานที่ได้การยอมรับ และการดูแลแบบองค์รวม ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยเป็นในปี 2567 ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มีมูลค่า 433.81 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 และคาดการณ์ว่าจะเติบโตด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ 15.24% ไปถึง 1,349.10 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2575 การเติบโตนี้บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นในคุณภาพและราคาที่เหมาะสมของบริการทางการแพทย์ของไทย
· อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทย ได้กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักของระบบนิเวศด้านการดูแลสุขภาพของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง นโยบายภาครัฐเชิงยุทธศาสตร์ และความต้องการจากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันตลาดเครื่องมือแพทย์ภายในประเทศคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 7% ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวถึง 7.5% ต่อปี สะท้อนบทบาทของไทยในฐานะผู้ส่งออกรายสำคัญของอาเซียน กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไทยมีศักยภาพโดดเด่น ได้แก่ เวชภัณฑ์สิ้นเปลือง (consumables) อุปกรณ์วินิจฉัยโรค และเครื่องมือฟื้นฟูสมรรถภาพ นอกจากนี้ยังมีมาตรการจูงใจด้านการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ ขณะเดียวกัน การวิจัยและพัฒนาในด้านวัสดุชีวภาพ รากฟันเทียม การวินิจฉัยโรค และเทคโนโลยีการผลิต ยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพของไทยในภาคการผลิตเครื่องมือแพทย์มูลค่าสูงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการตอกย้ำบทบาทของไทยในฐานะศูนย์กลางสำคัญในห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีการแพทย์ (MedTech) ในภูมิภาค
· การแพทย์เพื่อรองรับประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทย แต่ในภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ที่รวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยประชากรสูงอายุเพิ่มอย่างเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ทั้งทางเลือกการดูแล ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชันเพื่อการรักษาต่าง ๆ รวมทั้งยังช่วยผลักดันการเติบโตในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ โรงพยาบาล คลินิก บ้านพักคนชรา และบริการดูแลที่บ้าน อีกด้วย เพื่อตอกย้ำความสำคัญในเชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ของไทย ในปีนี้จึงมีการงาน MEDICAL FAIR THAILAND 2025 ซึ่งจะมีผู้แสดงสินค้าเข้าร่วมมากกว่า 1,000 ราย จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก รวมทั้ง 20 พาวิลเลียนไทยและนานาชาติครอบคลุมเทคโนโลยีและโซลูชันในหลายสาขา อาทิ กลุ่มโรงพยาบาล การวินิจฉัย ยา เวชภัณฑ์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู และ Digital Health ภายในงานยังจัดให้มีสัมมนาและเวิร์กชอปเฉพาะทางควบคู่กัน ซึ่งครอบคลุมหัวข้อด้านนวัตกรรมและเทรนด์ในอุตสาหกรรมสุขภาพ เวชศาสตร์ฟื้นฟู และประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งงานนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม ทั้งจากศักยภาพด้านการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงความต้องการที่มากขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ งาน MEDICAL FAIR THAILAND ในปีนี้จึงได้เปิดตัวโซนจัดแสดงใหม่หลายรายการที่สอดรับกับแนวโน้มสำคัญของอุตสาหกรรม ดังนี้ โซน LaunchPad เน้นนำเสนอผลงานของสตาร์ทอัปและนวัตกรรมก้าวล้ำ ขณะที่โซน Community Care จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการดูแลระยะยาว ส่วนโซน Medical Manufacturing ที่ขยายขนาดของพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม จะนำเสนอการผลิตเครื่องมือแพทย์มูลค่าสูง ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีระบบการผลิตขั้นสูง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบอัตโนมัติ และนวัตกรรมด้านวัสดุ สะท้อนบทบาทของงานแสดงฯ ต่อการขับเคลื่อนและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมในหลากหลายมิติ
Medical Fair Thailand 2025 จะจัดร่วมกับงาน GITEX Digi Health และ Biotech Thailand เป็นครั้งแรก โดยทั้งสองงานได้รับแรงบันดาลใจจาก GITEX GLOBAL หนึ่งในมหกรรมแสดงเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในการนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพในระดับสากล นอกจากนี้ Medical Fair Thailand ยังได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน 2568 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ติดตามการจัดงาน MEDICAL FAIR THAILAND 2025 ได้ที่ www.medicalfair-thailand.com
©2018 CK News. All rights reserved.