น่าห่วง!บุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าเยาวชน แนะรัฐคงมาตรการแบน ปราบปรามเข้มงวด


1 พ.ย. 2565, 17:39

น่าห่วง!บุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าเยาวชน แนะรัฐคงมาตรการแบน ปราบปรามเข้มงวด




วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบในประเทศไทย ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการ “บุหรี่ไฟฟ้า วิกฤติสุขภาวะวัยรุ่นไทย” ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ โดยได้เชิญคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ และอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มนักสูบหน้าใหม่และวัยรุ่นผู้หญิงที่เริ่มเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 พบวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า 5.3% สูบเป็นประจำ 2.9%  และที่น่าตกใจคือ 30% ของวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำเป็นผู้หญิง “บุหรี่ไฟฟ้าจึงถือเป็นภัยร้ายตัวใหม่ในวัยรุ่นเพราะทำให้วัยรุ่นกลุ่มที่ปกติจะไม่นิยมสูบบุหรี่ เช่น ผู้หญิง เข้ามาสนใจสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนสุดท้ายนำไปสู่การเสพติดสิ่งเสพติดอื่น ๆ เช่น กัญชา ยาบ้า โคเคน เฮโรอีน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอีกมากมาย” 

ด้านนางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่ ให้ข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นและปัญหาที่เกิดภายในครอบครัวที่น่าเป็นห่วง พบว่าหลายพื้นที่พบมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กระดับประถมศึกษาโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าใจผิดคิดว่าผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าแบบใหม่ ๆ เช่น พอต ไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า ไม่อันตรายและไม่เสพติด ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็ยังขาดความรู้และไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้เป็นบุหรี่ไฟฟ้า เพราะรูปลักษณ์ภายนอกมีลักษณะคล้ายอุปกรณ์การเรียนของเด็ก เช่น ปากกา น้ำยาลบคำผิด เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายเพราะมีการวางขายกันในตลาดนัด ทางออนไลน์ และในบางพื้นที่พบมีการนำบุหรี่ไฟฟ้ามาแจกให้วัยรุ่นลองใช้อีกด้วย อีกทั้งข้อมูลที่ได้จากการทำงานกับสถานศึกษา การเยี่ยมบ้านของคุณครูพบมีผู้ปกครองสูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเด็กและทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าด้วย จึงอยากให้มีการรณรงค์เรื่องนี้ในครอบครัวอย่างจริงจัง 

นางฐาณิชชา กล่าวต่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัย ยังมีรสชาติที่ปัจจุบันมีเกือบ 20,000 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นรสชาติขนมหวาน ลูกอม หมากฝรั่ง ผลไม้ น้ำอัดลม ชาเขียว นมเปรี้ยว ที่ล้วนเป็นรสชาติที่เด็กและวัยรุ่นชื่นชอบ และยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “เป้าหมายที่สำคัญของบุหรี่ไฟฟ้า คือเด็กและเยาวชน” จึงขอเรียกร้องไปยังบริษัทที่จำหน่ายขนมหวาน น้ำอัดลม ชาเขียวหรือนมเปรี้ยว เช่น โค้ก แฟนต้า หรือโออิชิ ให้ออกมาดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าที่นำโลโก้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้โฆษณาแอบอ้างเพื่อขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กและเยาวชน 

ด้านนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่เกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ทราบว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นแพร่ระบาดเป็นอย่างมากในกลุ่มเยาวชน และซ้ำร้ายคือระบาดไปถึงกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จนสร้างความน่าตกใจว่าเด็กระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 20 คน นอกจากนี้การตรวจค้นบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียนก็ยังเป็นข้อจำกัด เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ จนทำให้ครูไม่ทราบว่าสิ่งของชิ้นไหนที่เด็กนักเรียนพกมาเป็นบุหรี่ไฟฟ้า 

นายพชรพรรษ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามักอ้างว่า ไม่สนับสนุนการขายบุหรี่ไฟฟ้าให้เด็ก แต่การกระทำกลับตรงกันข้าม ไม่เคยแจ้งเบาะแสผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กและเยาวชน ซ้ำยังเคยเข้าร่วมกิจกรรมกับธุรกิจขายบุหรี่ไฟฟ้าด้วย จึงอยากขอยืนยันไปยังรัฐบาลให้ยืนยันมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีความคุ้มค่าใด ๆ เลย รายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเทียบไม่ได้เลยกับสุขภาพของเด็กและเยาวชน ซึ่งในอนาคตรัฐบาลอาจต้องจัดสรรงบประมาณในส่วนของค่ารักษาพยาบาลโรคจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้การจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนบุหรี่รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปียังมีความผิดตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ด้วย 

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทยระดับมัธยมต้นอายุ 11-16 ปี (อายุเฉลี่ย 13 ปี) พบว่า สาเหตุสำคัญ 5 ประการที่ทำให้เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ 1. มีพ่อแม่หรือคนในครอบครัวสูบบุหรี่ไฟฟ้า 2. มีเพื่อนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3. เพื่อนและคนรอบตัวมองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ 4. เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน และสำคัญที่สุดคือ 5. เข้าใจผิดคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย ซึ่งเด็กที่คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตรายนั้นมีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่ใด ๆ มาก่อน เมื่อเริ่มลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนติดต้องสูบเป็นประจำ ภายในระยะเวลา 1 ปีจะมีแนวโน้มที่จะเริ่มลองสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5.4 เท่า และมีแนวโน้มที่จะติดทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาหรือ dual use เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า gateway effects ของบุหรี่ไฟฟ้าที่นำไปสู่การสูบบุหรี่ 

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า สถาบันวิจัยอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาข้อมูลการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนในกรุงเทพมหานครอายุระหว่าง 14-17 ปี พบว่าเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 72% มีการใช้สารเสพติดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สุรา กัญชา และบุหรี่ และงานวิจัยในต่างประเทศพบว่ายิ่งเด็กเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตอนอายุยิ่งน้อย ยิ่งเสี่ยงที่จะไปติดสารเสพติดอื่น ๆ มากขึ้น นอกจากบุหรี่ไฟฟ้าจะก่อให้เกิดปัญหาที่นำไปสู่การใช้สารเสพติดต่าง ๆ แล้ว ยังมีผลกระทบหลายประการต่อสุขภาพ ที่สำคัญคือนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติดจะส่งผลโดยตรงต่อสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชนที่สมองจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ พิษของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลให้เด็กที่สูบมีอาการหงุดหงิดง่าย เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ความจำแย่ลง ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น และภาวะซึมเศร้า ซึ่งจากข้อมูลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยอายุ 10-19 ปีที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบว่ากว่าครึ่งหรือ 53% มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้าด้วย และเด็กที่เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า 

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น นอกจากจะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก และสังคมแล้ว ที่สำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือปัญหาของครอบครัว มีพ่อแม่จำนวนมากเข้ามาขอคำปรึกษาว่าต้องทำอย่างไรเมื่อพบหรือสงสัยว่าลูกสูบบุหรี่ไฟฟ้า และจะป้องกันอย่างไรไม่อยากให้ลูกไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติดอื่น ๆ ขอแนะนำว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาตัวตนให้กับชีวิต จึงทำให้ลองสิ่งใหม่ ๆ ที่ผ่านเข้ามาโดยเฉพาะผ่านทางเพื่อน ซึ่งภาวะที่สมองของวัยรุ่นยังเติบโตไม่เต็มที่จึงทำให้การตัดสินใจ การยับยั้งชั่งใจต่าง ๆ อาจจะยังไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ การแสดงความเข้าใจ เปิดใจรับฟังของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นมีความรู้สึกว่าเขาสามารถคุยขอคำปรึกษากับพ่อแม่ได้อย่างเต็มที่ การเงียบเฉยหรือใช้คำพูดต่อว่าหรือขู่เรื่องอันตรายที่จะเกิดในอนาคต เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้ผลเพราะวัยรุ่นมักจะสนใจจดจ่ออยู่เฉพาะเรื่องในปัจจุบันมากกว่าและอาจนำไปสู่การต่อต้านจนอาจจะนำไปสู่การมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่อาจจะรุนแรงกว่า  

ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าวต่อว่า หากมีลูกสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยากแนะนำให้พ่อแม่คุยกับลูก คุยด้วยการรับฟัง ทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เขาสูบ ว่ามันตอบสนองความต้องการอะไรในชีวิตของเขา เขามีความคิดความเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า มันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดยการพูดคุยให้เป็นบรรยากาศที่พ่อแม่รับฟังด้วยความอยากรู้ อยากทำความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นบรรยากาศแบบตั้งใจจะมาสั่งสอน จับผิด พ่อแม่สามารถส่งสัญญาณให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่รู้สึกเป็นห่วง อยากให้เขาลดหรือเลิกการสูบ ถ้าพบว่าลูกก็มีความตั้งใจในการลดหรือเลิกสูบ ก็วางแผนร่วมกันกับลูกว่าจะนำไปสู่การลดหรือเลิกสูบได้อย่างไร ในขณะเดียวกันพ่อแม่ควรต้องเติมความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้กับตัวเองด้วย 

สุดท้ายทางทีมผู้เชี่ยวชาญ อยากฝากไปถึงรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ให้ความสำคัญกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นและเร่งดำเนินการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นสิ่งผิดกฎหมายให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เราควรช่วยกันทำให้การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ไม่ปกติในสังคม มีการวางกติกาสังคมเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ เช่น โรงพยาบาลหรือโรงเรียนแพทย์หลายแห่งในต่างประเทศ ประกาศนโยบายไม่รับคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดยหากสูบต้องเลิกภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยจัดบริการเลิกสูบบุหรี่รองรับ หรืออย่างกรณีบริษัทประกันบางแห่งเริ่มมีกฎไม่รับทำประกันสุขภาพให้กับคนสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้กับเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพเหล่านี้ 





คำที่เกี่ยวข้อง : #บุหรี่ไฟฟ้า  









©2018 CK News. All rights reserved.